ป๊อปเปอร์ (Popper) หรือเอมิลไนไตรท์ (Amyl Nitrite) เป็นสารระเหยประเภทหนึ่งที่เดิมทีถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อรักษาอาการปวดเค้นหัวใจและแก้พิษจากไซยาไนด์โดยการดม แต่ปัจจุบันมีคนบางกลุ่มนำเอมิลไนไตรท์มาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยใช้เป็นยาปลุกเซ็กซ์ชนิดหนึ่งที่รู้จักกันแพร่หลายในชื่อป๊อปเปอร์
การใช้ป๊อปเปอร์เป็นยาปลุกเซ็กซ์นิยมใช้ในกลุ่มชายรักชาย เมื่อป๊อปเปอร์เข้าสู่ร่างกายจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เพิ่มความต้องการและความรู้สึกทางเพศ และลดความรู้สึกเจ็บปวดจากการมีเซ็กซ์ทางทวารหนัก ในขณะเดียวกันก็ถูกนำมาใช้ลดความเจ็บปวดบริเวณอวัยวะเพศหญิงได้เช่นเดียวกัน
ป๊อปเปอร์ส่วนใหญ่จะเป็นของเหลวบรรจุในขวดแก้วขนาดเล็กและระเหยในอากาศได้ง่าย สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการสูดดม แม้ว่าป๊อปเปอร์หรือเอมิลไนไตรท์จะใช้ในทางแพทย์ แต่ก็เป็นสารเคมีที่มีความเสี่ยงในการใช้และอาจเป็นอันตรายหากใช้ผิดวิธี นอกจากนี้ ป๊อปเปอร์ที่ไม่ได้สั่งจ่ายโดยแพทย์เพื่อรักษาโรคหรือใช้ในการศึกษายังเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศไทยอีกด้วย
อาการจากการสูดดมป๊อปเปอร์เป็นแบบไหน
เมื่อผู้ใช้สูดดมป๊อปเปอร์เข้าสู่ร่างกาย ตัวสารระเหยจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ซึมเข้ากระแสเลือด และวิ่งเข้าสู่สมอง ส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว ลดความดันเลือด คลายกล้ามเนื้อเรียบ อย่างหูรูดทวารหนักและอวัยวะเพศหญิง ทำให้เจ็บน้อยลง เกิดภาวะเคลิ้มหรือมีความสุข (Euphoric Effect) คล้ายภาวะมึนเมา กระตุ้นอารมณ์ทางเพศในช่วงเวลาไม่กี่นาที รวมถึงลดสติและความยับยั้งชั่งใจด้วยเช่นกัน
ป๊อปเปอร์เป็นอันตรายหรือเปล่า
ป๊อปเปอร์หรือเอมิลไนไตรท์ส่งผลต่อหลายระบบของร่างกาย แม้ว่าจะมีประโยชน์ในทางการแพทย์ และสร้างความสุขให้กับกิจกรรมทางเพศ แต่ฤทธิ์ของป๊อปเปอร์นั้นส่งผลต่อการทำงานของร่างกายหลายระบบ โดยผลข้างเคียงจะขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้นของป๊อปเปอร์ที่สูดดมเข้าไป รวมทั้งสภาพร่างกาย โรคประจำตัว และยาที่ผู้ใช้กำลังใช้อยู่ด้วย
การใช้ป๊อปเปอร์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและผลกระทบดังนี้
- ปวดหัว เวียนหัว และหน้ามืดระดับไม่รุนแรง ซึ่งมักพบเมื่อเปลี่ยนท่าทางหรือเคลื่อนไหวร่างกายเร็วเกินไป และอาจส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หน้าแดง อยู่ไม่สุข ผู้ใช้บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้เป็นผลข้างเคียงทั่วไป ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง แต่หากพบว่าอาการรุนแรงขึ้นหรืออาการไม่ดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ควรไปพบแพทย์
- อาการแพ้ชนิดไม่รุนแรง อย่างแสบจมูก แสบคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล ไปจนถึงอาการแพ้ทางผิวหนังเมื่อสัมผัสกับตัวสาร อย่างผิวหนังแห้ง ลอก เป็นผื่น และระคายเคือง
- เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากขึ้น เพราะป๊อปเปอร์สามารถลดสติและความยับยั้งชั่งใจ ทำให้อาจเกิดการมีเซ็กซ์โดยไม่ป้องกันและการใช้สารเสพติดด้วย จากการศึกษาชิ้นหนึ่งของประเทศจีนในกลุ่มชายรักชายที่ใช้ป๊อบเปอร์พบว่ามีอัตราการแพร่ของเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น
- การใช้ป๊อปเปอร์ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ อาจส่งผลให้ระดับความดันลดต่ำลงจนถึงระดับที่เป็นอันตราย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อภาวะช็อคที่เป็นภาวะร้ายแรง
- การใช้ป๊อปเปอร์ร่วมกับยากระตุ้นการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย เช่น ยาซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ที่มักรู้จักกันในชื่อแบรนด์ไวอะกร้า (Viagra) และแบรนด์ซิเดกร้า (Sidegra) รวมถึงยากระตุ้นการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายชนิดอื่น ๆ สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- การสูดดมป๊อปเปอร์ที่เข้มข้นหรือสูดดมมากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะโอเวอร์โดส (Overdose) หรือการได้รับยาเกินขนาด ส่งผลให้ปากม่วง เล็บม่วง เวียนหัวอย่างรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย หมดสติ และเสี่ยงต่ออาการร้ายแรงอื่น ๆ
- เสี่ยงต่อภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย (Methemoglobinemia) ส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะภายในร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน (Hypoxia) จนอาจนำไปสู่ภาวะสมองขาดออกซิเจน ระบบอวัยวะล้มเหลว และเสียชีวิต
สิ่งที่ควรระวังจากการใช้ป๊อปเปอร์ การใช้ป๊อปเปอร์หรือสารเอมิลไนไตรท์มีความเสี่ยงในการใช้ค่อนข้างมาก การใช้สารนี้ในทางที่ผิดหรือไม่ได้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพหรือผลข้างเคียงอันตรายจนถึงชีวิต โดยเฉพาะการใช้ป๊อปเปอร์ร่วมกับการสูบบุหรี่ สารเสพติด และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มอาจได้รับผลกระทบจากการเอมิลไนไตรท์เพื่อรักษาโรค จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้สารชนิดนี้ เช่น - คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และคุณแม่ที่กำลังให้นมลูก เพราะข้อมูลในปัจจุบันยังไม่ทราบผลกระทบที่แน่ชัดของสารชนิดนี้
- คนที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเลือดจาง โรคต้อหิน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจขาดเลือด และคนที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณสมองและศีรษะ
- คนที่ใช้ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศหรือยากระตุ้นการแข็งตัวของอวัยวะเพศชาย เช่น ยาซิลเดนาฟิล ยาอะแวนาฟิล (Avanafil) ยาทาดาลาฟิล (Tadalafil) และยากระตุ้นการแข็งตัวของอวัยวะเพศชายอื่น ๆ
- บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอาจทำปฏิกิริยากับป๊อปเปอร์ ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายได้
สำหรับคนที่ต้องทำงานกับสารระเหยอย่างเอมิลไนไตรท์ ควรสวมหน้ากากอนามัยที่เหมาะสมกับการป้องกันสารเคมีเพื่อป้องกันการสูดดม สวมถุงมือเพื่อป้องกันสารเคมีสัมผัสกับผิวหนัง สวมแว่นตาป้องกันหรือเฟสชิลด์ (Face Shield) เพื่อป้องกันสารเคมีกระเด็นเข้าดวงตา รวมกับปฏิบัติตามมาตรการของสถานที่ทำงานเพื่อลดความเสี่ยงของผลกระทบจากสารเอมิลไนไตรท์ให้ได้มากที่สุด ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ป๊อปเปอร์หรือเอมิลไนไตรท์เท่านั้น อาจมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ผู้ใช้ควรศึกษาเพิ่มเติม หากไม่แน่ใจเกี่ยวกับวิธีใช้และผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
ข้อมูลจาก : https://www.pobpad.com/
|